7 ปัญหายอดฮิต ทำไมเขียนธรรมนูญครอบครัวไม่ประสบความสำเร็จ

7-ปัญหายอดฮิตทำไมเขียนธรรมนูญครอบครัวไม่ประสบความสำเร็จ

ธุรกิจครอบครัวในเมืองไทยให้ความสนใจในเรื่องธรรมนูญครอบครัวกันมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่ในเมืองไทยมีอายุธุรกิจ 20 – 40 ปีซึ่งเป็นช่วงการทำงานร่วมกันระหว่างรุ่นที่ 1 กับรุ่นที่ 2 หลายครอบครัวเริ่มมีรุ่นที่ 3 แล้ว สมาชิกเริ่มเห็นความสำคัญของการหาข้อตกลงกันภายในครอบครัว เมื่อครอบครัวมีจำนวนสมาชิกมากขึ้น ธุรกิจใหญ่ขึ้นการทำงานเริ่มมีข้อขัดแย้ง และยากขึ้นเรื่อย ๆ สมาชิกเริ่มศึกษาวิธีการเขียนธรรมนูญครอบครัวอย่างจริงจัง บางครอบครัวได้ศึกษาจากการค้นคว้าข้อมูลด้วยตัวเองศึกษาจากครอบครัวอื่น หรือขอคำแนะนำจากครอบครัวที่รู้จักมาเล่าปัญหาที่เกิดขึ้นให้ฟัง หลายครอบครัวที่ไม่มีเวลาหรือหาที่ปรึกษาซึ่งมีความชำนาญด้านนี้มาช่วยวางแผนและเขียนให้

เมื่อเขียนเสร็จไม่ว่าจะใช้วิธีไหนก็ถึงเวลานำมาปฏิบัติใช้ ครอบครัวที่มีสมาชิกที่เอาใจใส่ก็จะนำหลักการที่ได้ตกลงกันมาใช้ ตั้งสภาครอบครัวและพัฒนาต่อเนื่อง ในขณะที่บางครอบครัวไม่ได้มีการดำเนินการต่ออาจเนื่องจากเนื้อหาธรรมนูญครอบครัวมีหลายเรื่องที่วางหลักการไว้เพื่อใช้ในอนาคต เนื้อหายังไม่ครบ หรือสมาชิกงานยุ่งและไม่ได้สนใจดำเนินการต่อก็มี จากประสบการณ์ที่ได้เห็นครอบครัวประสบปัญหาและมาปรึกษาว่าจะทำอย่างไรกันดี ธรรมนูญครอบครัวที่ร่างขึ้นสามารถครอบคลุมประเด็นที่สำคัญหรือไม่ หรือแม้แต่การร่างธรรมนูญครอบครัวเสร็จแล้วแต่ยังไม่สามารถนำไปใช้งานได้จริงจัง หรือหาสาเหตุที่ยังติดขัดไม่สามารถประกาศใช้ได้ ซึ่งได้รวบรวมประเด็นของธรรมนูญครอบครัวที่ไม่ประสบผลสำเร็จกรณีต่าง ๆ ไว้ได้ดังนี้

1. เขียนธรรมนูญเสร็จแล้วแต่สมาชิกขาดความสนใจที่จะสานต่อ 

ซึ่งปัญหานี้ส่วนใหญ่จะไม่ได้แต่งตั้งสมาชิกผู้ประสานงานรับผิดชอบ หรือ ขาดการทบทวนและทิ้งไว้เฉย ๆ บางครอบครัวคิดว่าบางเรื่องเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดจึงไม่ได้มีการนำมาทบทวนใส่ใจ และในที่สุดก็ลืมว่า เราตกลงเรื่องต่าง ๆ ไว้อย่างไรบ้าง

ข้อแนะนำ : ครอบครัวต้องแต่งตั้งสมาชิกขึ้นมารับผิดชอบโดยตรง และเป็นผู้ประสานงานให้เกิดการจัดตั้งสภาครอบครัว และจัดประชุมตามข้อตกลงในธรรมนูญครอบครัว ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการประกาศใช้ และการพัฒนาธรรมนูญครอบครัวอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

2. ธรรมนูญที่ครอบครัวร่างขึ้นอาจเป็นการร่างด้วยตัวคนเดียว

โดยผู้นำครอบครัวรุ่นที่ 1 หรือร่างโดยสมาชิกรุ่นที่ 2 ที่มีบทบาทในธุรกิจครอบครัวเพียงคนสองคน อาจยังขาดสมาชิกสายต่าง ๆ การร่างโดยไม่ได้ฟังความเห็นของสมาชิกครอบครัวทั้งหมดทำให้สมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ ที่ไม่มีส่วนในการร่างย่อมอาจไม่เห็นด้วยและนำมาซึ่งการละเลยไม่ปฏิบัติตาม

ข้อแนะนำ : หัวใจสำคัญของการร่างธรรมนูญครอบครัวคือ สมาชิกทุกสายต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ถ้าสมาชิกในแต่ละสายมีจำนวนมาก และมีหลายรุ่นจะต้องมีการคัดเลือกสมาชิกที่เป็นตัวแทนสายขึ้นมาเพื่อสามารถสร้างข้อตกลงที่มีความสมดุล และมีผลในระยะยาวต่อไป

3. ธรรมนูญครอบครัวของบางครอบครัวอาจมีข้อตกลงบางเรื่องที่มีแนวทางที่เป็นประโยชน์กับสมาชิกบางกลุ่ม

ซึ่งทำให้รู้สึกถึงความไม่ยุติธรรม หรือความเสมอภาคเกิดขึ้นได้ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่มีสาเหตุมาจากการร่างธรรมนูญครอบครัวของสมาชิกบางคน

ข้อแนะนำ : เช่นเดียวกับหัวข้อที่ 2 สมาชิกทุกคนต้องมีส่วนร่วมออกความเห็นหรือแต่งตั้งคณะร่างธรรมนูญครอบครัวที่คำนึงถึงความเสมอภาคของสมาชิกทุกสาย

4. การเขียนธรรมนูญไม่ยึดถือหลัก ความยุติธรรม – การแบ่งปัน – การดูแลซึ่งกันและกัน (Fair – Share – Care)

ทำให้เกิดข้อโต้แย้งกันในครอบครัวในหลายประเด็น ซึ่งเรื่องนี้กระทบเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ความรัก ความสามัคคี

ข้อแนะนำ : การเขียนธรรมนูญครอบครัวของครอบครัวหนึ่งหัวใจสำคัญคือ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันความเข้าใจซึ่งกันและกัน และที่สำคัญคือความเข้าใจร่วมกัน ขอให้คำนึงถึงพื้นฐานค่านิยมครอบครัว หรือวัฒนธรรมครอบครัวที่บรรพบุรุษ หรือผู้ก่อตั้งธุรกิจได้มีการสืบทอดจากการกระทำ ความเอาใจใส่ ประสบการณ์ ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นจนเกิดเป็นต้นทุนครอบครัวที่สำคัญ   

5. การร่างธรรมนูญที่อยู่ในช่วงความขัดแย้งภายในครอบครัว

ซึ่งความขัดแย้งนี้สมาชิกรับทราบอยู่แล้วแต่ก็ละเลยมองข้ามไป หรือความขัดแย้งสะสมของสมาชิกแต่ละคนที่มองไม่เห็นคล้ายภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ใต้น้ำหรือภายใต้จิตใจของสมาชิกแต่ละคน ทำให้การสร้างข้อตกลงไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร

ข้อแนะนำ : เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของสมาชิกแต่ละคน การสลายภูเขาน้ำแข็งหรือทำให้มันลอยขึ้นมาได้ ถ้าสมาชิกยอมเปิดใจคุยกันได้ก็ถือว่าดีมาก ครอบครัวที่มาให้ที่ปรึกษาช่วยในการเขียนธรรมนูญครอบครัวบางครั้งก็มองไม่เห็นความขัดแย้งลึก ๆ ของเรื่องพวกนี้  เราใช้ประสบการณ์ที่มีและมักจะจับสัญญาณความขัดแย้งเรื่องพวกนี้ พร้อมแนะนำให้จัดการความขัดแย้งเหล่านี้ก่อน ก่อนเข้าสู่ขบวนการสร้างข้อตกลงต่อไป

6. ธรรมนูญครอบครัวขาดเนื้อหาที่สำคัญบางเรื่อง

ทำให้ข้อตกลงขาดความสมบูรณ์ และเมื่อเวลานำมาใช้ปฏิบัติจึงมีความติดขัด และจะต้องมาเพิ่มเติมแก้ไขกันอยู่ตลอด

ข้อแนะนำ : เนื้อหาหลักที่สำคัญจะครอบคลุมใน 3 เรื่องใหญ่คือ เรื่องครอบครัวว่าทำอย่างไรให้ครอบครัวมีความยุติธรรม และร่วมกันบริหารธุรกิจด้วยความเข้าใจ  เรื่องธุรกิจคือการบริหารธุรกิจด้วยความเป็นมืออาชีพด้วยหลักการอะไร และเรื่องความเป็นเจ้าของคือทำอย่างไรให้ธุรกิจเป็นหนึ่งเดียว และการส่งต่อธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นอย่างต่อเนื่องยั่งยืน ส่วนรายละเอียดสามารถศึกษาได้จาก

7. ขาดการวางแผนและการวิเคราะห์ครอบครัวอย่างแท้จริง

ก่อนเริ่มต้นการสร้างข้อตกลง ซึ่งถือเป็นรากฐานที่สำคัญในการที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของธรรมนูญครอบครัวฉบับนี้ การวิเคราะห์ครอบครัวและธุรกิจครอบครัวนี้ เพื่อที่จะให้สมาชิกครอบครัวที่อยู่ในคณะร่างธรรมนูญครอบครัวได้เห็นภาพรวมของครอบครัว เข้าใจถึงจุดอ่อนจุดแข็งของครอบครัว และโอกาสของสมาชิกครอบครัวในการทำงานในธุรกิจครอบครัว

ข้อเสนอแนะ : การวิเคราะห์ครอบครัวเพื่อหาความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นในครอบครัว พร้อมจุดปรับปรุงแก้ไข ซึ่งครอบครัวอาจใช้หลักการวิเคราะห์ธุรกิจ การวางแผนธุรกิจ ทิศทางธุรกิจมาใช้วิเคราะห์ครอบครัว ซึ่งเรื่องนี้จะมีบทความแนะนำการวางแผนการเขียนธรรมนูญครอบครัวเฉพาะอีกบทความหนึ่ง

“จะเห็นว่าการสร้างข้อตกลงในครอบครัวจนออกมาเป็นธรรมนูญครอบครัว ถ้าไม่ได้วางแผนหรือทุกคนมีส่วนร่วม อาจทำให้ธรรมนูญครอบครัวที่เขียนขึ้นมา อาจใช้การไม่ได้จนต้องมีการนำมาปรับปรุงแก้ไข หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือ ให้บริษัทที่ปรึกษาเข้ามาช่วยในการวางแผนการเขียนธรรมนูญครอบครัวซึ่งถือเป็นตัวเลือกอีกทางหนึ่ง”

อ้างอิงจาก : Cover Picture: High Gate Senior Living

สนใจสมัครเข้าร่วมสมาคม AFBE

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *