ปัญหาธุรกิจว่ายากแล้ว……การบริหารธุรกิจครอบครัวอาจยากกว่า

การบริหารธุรกิจจะว่าด้วยเรื่องของการบริหารคน การบริหารงานและการบริหารคน ที่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์เพื่อให้ธุรกิจประสบผลสำเร็จนั้นนับว่ายากแล้ว แต่ถ้าเราต้องทำงานในธุรกิจครอบครัวที่ไม่ใช่การบริหาร คน งาน เงิน แต่ต้องบริหารอะไรที่นอกเหนือจากหลักการบริหารแบบมืออาชีพ ไปสู่การบริหารสายสัมพันธ์ อารมณ์ความรู้สึกของสมาชิกครอบครัว ญาติพี่น้อง ซึ่งถือเป็นการบริหารนอกตำราที่มีความยากที่สุด ถือเป็นสังเวียนการบริหารที่ไม่มีแพ้ชนะ ใครทำไม่ดีการตำหนิติเตียนหรือแม้แต่ให้ออกจากการทำงานแสนยากเย็น ตำราการบริหารธุรกิจครอบครัวโดยเฉพาะวิธีการบริหารสมาชิกครอบครัวมีบทความเรื่องนี้น้อยมาก ๆ ถ้ามีจะเป็นในรูปของกรณีศึกษาของครอบครัวที่มีปัญหาแล้ว

 การบริหารธุรกิจเรามีความอิสระทางความคิด สามารถแนะนำให้คำปรึกษาเพื่อนร่วมงาน เสนอแนะ แก้ไขปัญหาต่าง ๆ เราสามารถตำหนิพนักงาน ลูกน้อง หรือแม้กระทั่งหัวหน้าได้โดยไม่มีใครโกรธ  แต่ถ้าเราเห็นสมาชิกละเลยในหน้าที่เราอาจอยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่างออกไป กลืนไม่เข้าคายไม่ออกหรือไม่สามารถทำได้

บทบาทหน้าที่ของเราในธุรกิจครอบครัวมีความหลากหลายอาจเป็นทั้ง กรรมการ เจ้าของ ผู้บริหาร พ่อ แม่ พี่น้อง คู่สมรส ที่จะต้องทำงานร่วมกับสมาชิกท่านอื่น ๆ มีความผูกพันทางสายเลือด ไม่ว่าเราจะทำงานกับใคร สิ่งที่เป็นปัญหากับหลาย ๆ ครอบครัวนั่นคือเรื่องสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น อารมณ์ความรู้สึกที่ไม่มีตำราการบริหารเขียนไว้ว่าต้องจัดการอย่างไร ควรทำอย่างไร เรื่องนี้ถือเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความขัดแย้งกันได้ ถ้าเราบริหารจัดการได้ไม่ดี  บางครั้งก่อตัวด้วยปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ลุกลามใหญ่โตได้

เรามาดูตัวอย่างของความเสี่ยงจากการบริหารธุรกิจครอบครัว ว่าจะเกิดได้ในลักษณะแบบไหนได้บ้าง

  • การทำงานกับคู่สมรส เป็นปัญหาที่พบประจำของธุรกิจครอบครัวโดยเฉพาะผู้ก่อตั้งที่ร่วมกันสร้างธุรกิจระหว่างสามี ภรรยาคือ ความเกรงใจซึ่งกันและกัน การตัดสินใจโดยไม่มีการบอกกล่าว ความเห็นไม่ค่อยลงรอยกัน ใครตัดสินใจอย่างไรก็จะยอม ๆ กัน บางปัญหาปล่อยวางและปล่อยผ่านไป บางครอบครัวก็ปล่อยให้ผู้นำเป็นผู้ตัดสินใจไปเลย
  • การทำงานระหว่าง พ่อ แม่ ลูก ถือเป็นปัญหาคลาสสิคของธุรกิจครอบครัว เป็นปัญหาของช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) พ่อแม่สอนลูก หรือลูกเอาพ่อแม่เป็นแบบอย่าง บางครอบครัวพ่อแม่อาจเรียนไม่สูงแต่มีประสบการณ์การทำงานอันโชคโชนกับลูก ๆ ที่จบการศึกษาสูงแต่ยังไม่มีประสบการณ์แต่อยากจะประสบผลสำเร็จด้วยความสามารถของตนเองมากกว่าการสั่งสอนของพ่อแม่  การอยากมีชีวิตที่อิสระ อยากสร้างธุรกิจของตัวเอง การเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัวสำนึกความเป็นเจ้าของ การทุ่มเทกับงาน  ความชัดเจนในเรื่องการทำงาน การใช้ชีวิตของแต่ละคน Work Life Balance เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดข้อขัดแย้งกันได้
  • การทำงานร่วมกันระหว่างพี่ น้อง จะเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี ความอาวุโส พี่ใหญ่ น้องเล็ก ผู้หญิงผู้ชาย   ปัญหาเรื่องความเท่าเทียมของผลประโยชน์ ผลตอบแทนที่อาจได้เท่ากันโดยไม่ได้ดูประสบการณ์ การทุ่มเทการทำงานที่แตกต่างกัน ทำน้อย ทำมาก การใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ความสนิทสนมของพี่น้องแต่ละคนจนเกิดเป็นการเมืองในครอบครัว
  • การทำงานกับเครือญาติ ลุง ป้า น้า อา เขย หรือสะใภ้ เรื่องนี้ก็จะมีเรื่องความเกรงใจกัน การตำหนิติเตียนอาจกระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง ความมีอภิสิทธิ์ของการทำงานของเครือญาติ พฤติกรรมบางอย่างที่ไม่สามารถตำหนิติเตียนได้

เรื่องความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงของความขัดแย้ง ครอบครัวควรมีการสร้างข้อตกลงสำหรับสมาชิกที่ทำงานในธุรกิจครอบครัว โดยเฉพาะการวางนโยบายแผนจ้างงานสมาชิกครอบครัว ผลตอบแทนทุกรูปแบบในการทำงาน และแผนการสืบทอดธุรกิจครอบครัว ซึ่งเป็นหัวข้อหนึ่งที่สำคัญในธรรมนูญครอบครัว  การกำหนดบทบาทหน้าที่ของสมาชิกให้ชัดเจน การจัดตั้งสภาครอบครัวเพื่อสร้างการประชุมที่เป็นกิจจะลักษณะ และนำปัญหาการทำงานต่าง ๆ มาพูดคุยกันในวงประชุมนี้เป็นต้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *