ไอศกรีม “Baskin Robbins” กรณีศึกษาปัญหาช่องว่างระหว่างวัยในธุรกิจครอบครัว

กรณีศึกษาไอศกรีม Baskin Robbins

ช่องว่างระหว่างวัยเป็นเรื่องที่มีการหยิบยกมาเป็นประเด็นในทุกวงการ ตั้งแต่ในครอบครัวระหว่างพ่อ แม่ ลูก  หรือเกิดขึ้นในที่ทำงานระหว่างหัวหน้า และลูกน้อง ยิ่งในโลกยุคปัจจุบันช่องว่างนี้จะเริ่มมีมากขึ้น ถ้าผู้ใหญ่ในยุคเบบี้บูมไม่ก้าวให้ทันเด็กรุ่นใหม่แล้วถ้าช่องว่างระหว่างวัยเกิดขึ้นในธุรกิจครอบครัว ที่มีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกของความเป็นสายเลือด ญาติพี่น้อง เราจะมีวิธีการจัดการอย่างไรบ้าง ?

กรณีศึกษาปัญหา “ช่องว่างระหว่างวัย” ในธุรกิจครอบครัว

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า พื้นฐานการบริหารธุรกิจครอบครัวมีเอกลักษณ์อย่างไรบ้างเมื่อเทียบกับการบริหารธุรกิจ การบริหารธุรกิจครอบครัวของผู้ก่อตั้งหรือผู้เป็นพ่อเกิดขึ้นมาจากการทำงานหนัก สั่งสมประสบการณ์ด้วยการลองผิดลองถูก หาหนทางจนมาสู่ความชำนาญ มีความผูกพันกับธุรกิจอย่างมากจนเรียกได้ว่า อยากจะรักษาธุรกิจที่ตัวเองได้สร้างมาให้คงอยู่ต่อไป และส่งต่อไปยังลูกๆ โดยคาดหวังว่าลูกๆ สามารถรักษา ต่อยอดธุรกิจด้วยอารมณ์เดียวกับพ่อ การเปลี่ยนแปลงใดๆ ในธุรกิจอาจจะยาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่ามีความคิดว่าสิ่งที่สร้างมาจนถึงทุกวันนี้ดีอยู่แล้ว ถ้าลูกๆ ต้องการเข้ามาเปลี่ยนแปลงจะต้องพิสูจน์ฝีมือความคิดกันพอสมควร และเรื่องที่สำคัญบางครอบครัวเจ้าของอาจไม่ได้เรียนสูงแต่พ่อทุกคนได้ส่งเสียลูกๆ ให้เรียนในสถานศึกษาที่ดี และเรียนสูงเท่าที่ลูกๆ ต้องการ

ดังนั้น ช่องว่างอันแรกของธุรกิจครอบครัวคือ ความต่างระหว่างประสบการณ์สูงของพ่อ กับการศึกษาสูงของลูก ที่จะต้องปรับจูนเข้าหากัน ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่ หลังจากเรียนจบจะมีความฝัน ความปรารถนาส่วนตัว หรือแม้กระทั่งต้องการประสบผลสำเร็จด้วยขาของตัวเอง ต้องการการยอมรับจากเพื่อนฝูง เชื่อการแนะนำจากผู้มีประสบการณ์มากกว่าจากพ่อแม่ แม้ที่บ้านจะมีทุกอย่างพร้อมบางคนเห็นธุรกิจครอบครัวที่ทำอยู่ก็มีความคิดต่าง อยากเข้ามาเปลี่ยนแปลง กำหนดกฎกติกาใหม่ เป็นต้น

กรณศึกษาธุรกิจครอบครัว ไอศกรีม “Baskin Robbins”

ไอศกรีม “บาสกิ้น ร็อบบินส์” ถือเป็นกรณีศึกษาธุรกิจครอบครัวที่ทายาทรุ่นที่ 2 มีความคิดต่างจากพ่อผู้ก่อตั้ง และเดินออกจากธุรกิจครอบครัวตามหาความฝันของตัวเอง จนในที่สุดไม่มีคนสานต่อธุรกิจและธุรกิจต้องเปลี่ยนมือไปในที่สุด “บาสกิ้น ร็อบบินส์” ถือกำเนิดจากนายเออร์วิน ร็อบบินส์ กับ นาย เบิร์ท บาสกิ้น ผู้เป็นพี่เขย เปิดร้านขายไอศกรีมซึ่งมี 31 รสชาติ  ธุรกิจเติบโตมีกำไรงอกงาม ทายาทรุ่น 2 นาย จอห์น ร็อบบินส์ เติบโตบนความมั่งคั่งของตระกูล คาบช้อน (ไอศกรีม) เงินช้อนทองมาตั้งแต่เกิด  แต่ปรากฏว่านายจอห์น ร็อบบินส์ ที่พ่อหมายมั่นให้เป็นผู้สืบทอดธุรกิจกลับมีความคิดที่แตกต่าง แม้จะเข้ามาช่วยงานในธุรกิจแล้วก็ตาม แต่อยากยืนบนความสำเร็จด้วยขาของตัวเอง และจุดเปลี่ยนเมื่อลุง เบิร์ท บาสกิ้น มาเสียชีวิตจากหัวใจวายในวัยแค่ 54 ทำให้นายจอห์น ร็อบบินส์ เห็นว่าไอศกรีมไม่มีผลดีต่อสุขภาพ และเป็นผู้ฆ่าลุงเบิร์ท แม้ผู้เป็นพ่อจะปฏิเสธอย่างไรก็ตาม จึงทะเลาะกับพ่ออยู่หลายครั้งและในที่สุดก็หันหลังให้ธุรกิจครอบครัว  พ่อทั้งโกรธ และเสียใจอย่างที่สุด แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งความต้องการของลูกชายที่จะออกไปใช้ชีวิตตามความฝัน ยื่นบนขาของตัวเองได้ เมื่อไม่มีผู้สืบทอด ในที่สุดธุรกิจก็ต้องขายออกไปในที่สุด พ่อลูกคู่นี้ใช้เวลานานทีเดียวกว่าจะคืนดีกัน และพ่อเริ่มเข้าใจการใช้ชีวิตของลูกเปรียบเสมือนจังหวะดนตรีที่แตกต่างกัน

ความคิดต่างและทำให้เกิดช่องว่างระหว่างพ่อลูกนี้ ถ้ามองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยปล่อยให้เวลาเป็นตัวตัดสิน บางครั้งก็อาจสายเกินไป คำถามที่อยู่ในใจของทายาทรุ่นใหม่ จากประสบการณ์การจัดสัมมนาธุรกิจครอบครัวของ “เฟิร์ม” ให้กับธนาคารขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทยว่า ทายาทอยากรู้เรื่องอะไรในธุรกิจของที่บ้านแต่ไม่ได้ถาม คำถามที่รวบรวมได้คือ ธุรกิจครอบครัวเหมาะกับเขาอย่างไร ควรจะร่วมงานในธุรกิจครอบครัวหรือมีทางเลือกอื่นอีกมั้ย จะทำงานไปด้วยกันกับญาติพี่น้องอย่างไรดี และถ้าทายาทฝีมือสู่มืออาชีพไม่ได้จะทำอย่างไรดี ที่บ้านเป็นครอบครัวใหญ่จำเป็นต้องเข้าร่วมอีกหรือไม่ ในเมื่อมีสมาชิกอีกหลายคนทำงานอยู่แล้ว เป็นต้น การเชื่อมช่องว่างจากความคิดของสมาชิกครอบครัวคนละรุ่นในธุรกิจครอบครัวมีแนวทางเพื่อให้เกิดความเข้าใจกันระหว่างคน 2 รุ่น เรื่องที่สำคัญที่สุดนั่นคือเรื่องการสื่อสารที่เป็นกิจจะลักษณะนั่นคือ การกำหนดการประชุมครอบครัวเพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนได้ใช้เวทีนี้ในการแชร์มุมมองต่าง ๆ ในเรื่องธุรกิจ ทิศทางในอนาคตและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆ

พ่อ แม่ ต้องบอกเล่าเรื่องราวของธุรกิจครอบครัว ตั้งแต่การสร้างธุรกิจที่มาที่ไป เพื่อให้สมาชิกทุกคนได้เข้าใจว่าเป็นมาอย่างไร และกำลังจะเดินไปในทิศทางไหน บางครอบครัวได้จัดทำประวัติและจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มให้สมาชิกทุกคนได้เรียนรู้ บางครอบครัวใช้วิธีให้ลูก ๆ ช่วยกันเขียนประวัติธุรกิจครอบครัวกันขึ้นมาก็มี การวางนโยบาย และแผนการจ้างงานสมาชิกที่อิงมาตรฐานธุรกิจในประเภทเดียวกัน เพื่ออย่างน้อยสมาชิกครอบครัวจะได้เห็นว่า คุณสมบัติที่สำคัญอะไรบ้างที่บริษัทต้องการเพื่อตอบคำถามว่าธุรกิจครอบครัวเหมาะกับเค้ามากน้อยแค่ไหน หลายครอบครัวที่ลูกหลานเรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับธุรกิจที่บ้าน ก็จะได้เข้าใจและลดช่องว่างที่เกิดขึ้นได้

การวางแผนสืบทอดธุรกิจ ถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญในการส่งต่อธุรกิจในรูปแบบไหน สมาชิกครอบครัวคุณสมบัติแบบไหนที่มีโอกาสสืบทอดธุรกิจ หรือแม้กระทั่งกำหนดผู้สืบทอดไว้ล่วงหน้า ที่จะเข้าสู่ขบวนการสร้างผู้สืบทอด เพื่อเริ่มต้นการเรียนรู้ ภาวะผู้นำ การสร้างบารมีต่าง ๆ ซึ่งจะตอบคำถามที่ว่า ถ้าทายาทฝีมือสู้มืออาชีพไม่ได้จะทำอย่างไร

การกำหนดบทบาท สิทธิและหน้าที่สมาชิกครอบครัว ว่าแต่ละคนมีบทบาทมีความสำคัญอะไรบ้าง มีสิทธิที่แตกต่างจากเครือญาติ แตกต่างจากเขย สะใภ้ อย่างไรเพื่อตอบคำถามที่ว่า จะทำงานกับเครือญาติได้อย่างไร

การกำหนดกิจกรรมครอบครัวร่วมกัน ตั้งแต่การเลี้ยงพบปะสังสรรค์ในเทศกาลต่าง ๆ การท่องเที่ยวของครอบครัวการจัดกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งธรรมเนียมจีนเรื่องการไหว้บรรพบุรุษก็ถือเป็นกิจกรรมที่จะรวมครอบครัวเข้าด้วยกัน

การสร้างข้อตกลงในเรื่องต่าง ๆ ที่คิดว่าสำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจครอบครัว หรือการเขียนธรรมนูญครอบครัวเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับครอบครัว และธุรกิจครอบครัว ครอบครัวสามารถเขียนข้อกำหนดกันขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง หรือจ้างที่ปรึกษาที่จะมาช่วยให้คำแนะนำถึงขบวนการเหล่านี้ได้

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง

  • John Robbins , “The New Good Life”  2010

สนใจสมัครเข้าร่วมสมาคม AFBE

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *