“โครงสร้างครอบครัว” กับ “โครงสร้างการบริหารธุรกิจครอบครัว” เหมือนกันหรือไม่ ?

โครงสร้างครอบครัว-vs-โครงสร้างการบริหารธุรกิจครอบครัว

จากประสบการณ์ของทีมงานสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจครอบครัว (AFBE) ที่ได้ทำงานที่ปรึกษาการจัดทำธรรมนูญครอบครัวให้กว่า 40 ครอบครัวไทย และจากการศึกษากรณีตัวอย่างทั้งในและต่างประเทศ พบว่ามูลเหตุความขัดแย้งของครอบครัวธุรกิจส่วนใหญ่มักมีสาเหตุเริ่มต้นมาจาก “โครงสร้างครอบครัว” และ “โครงสร้างการบริหารธุรกิจครอบครัว

โครงสร้างครอบครัว” เป็นประเด็นหลักของทุกครอบครัว และธุรกิจครอบครัวจะต้องเจอกับความเสี่ยงเรื่องความขัดแย้งระหว่างพ่อ แม่ ลูก อาทิ การมีประสบการณ์ของพ่อ กับการศึกษาที่สูงของลูกมาเจอกันเป็นช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) มีความคิดความอ่านที่แตกต่างกัน  โครงสร้างครอบครัวพี่น้องหลายคนที่กินนอนด้วยกันกับแยกย้ายกันเรียน เติบโตในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน เป็นประเด็นที่มีโอกาสของความขัดแย้งทั้งสิ้น

โครงสร้างครอบครัวที่มีสมาชิกน้อยจะถูกเคี่ยวเข็ญมากกว่า ครอบครัวที่มีสมาชิกหลายคน ครอบครัวที่มีพ่อเก่งสร้างความไว้วางใจต่อคู่ค้า จะเป็นความท้าทายของลูก ๆ ที่จะต้องเก่งให้เท่าพ่อ หลายครอบครัวมีความกังวลว่า ลูก ๆ จะไม่ได้รับความไว้วางใจกับคู่ค้าเนื่องจากความสามารถไม่ถึง การเคี่ยวเข็ญ การสอนงาน การใช้อารมณ์อาจทำให้ทายาทบางคนทนความกดดันไม่ไหว แล้วเดินออกจากธุรกิจครอบครัวไปเลยก็มี

นอกจากนี้วัฒนธรรมครอบครัวหรือแนวความคิดของบรรพบุรุษที่ว่า ธุรกิจควรส่งต่อให้ลูกชายคนโต หรือลูกชายคนแรก หรือแม้แต่โดยหลักปฏิบัติลูกชายย่อมมีโอกาสครอบครองธุรกิจ หรือขึ้นเป็นใหญ่ในธุรกิจได้มากกว่าผู้หญิง ถ้าลูกชายคนโตไม่มีความสามารถเพียงพอหรือไม่เอาธุรกิจจะเกิดอะไรขึ้น หรือกรณีตัวอย่างครอบครัว 4 คน มีลูกสาว 3 คน และลูกชายคนเล็ก 1 คน ธุรกิจเติบโตมาจากลูกสาวช่วยพ่อทำงานเรื่อยมา แต่เมื่อถึงเวลาลูกชายคนเล็กเติบโตขึ้น พ่อโอนหุ้นเกือบทั้งหมดให้ลูกชายบริหารต่อ นำความไม่พอใจมาสู่พี่สาวทุกคนและในที่สุดก็มีปัญหากัน หรืออีกกรณีครอบครัว 4 คน มีลูกชาย 2 คน ลูกสาว 2 คน ลูกชายเป็นคนโต และคนสุดท้อง พี่คนโตถูกส่งไปเรียนเพราะเรียนเก่ง ในขณะที่ลูกชายคนเล็กไม่ชอบเรียนหนังสือ เลยถูกพ่อให้เข้ามาช่วยงานตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ และได้ฝึกฝนเรียนรู้งานจากผู้เป็นพ่อจนเก่ง ในขณะที่คนโตเรียนจบกลับมาแต่ก็ไม่ได้เข้ามาช่วยกิจการ ผู้เป็นพ่อจะยกความเป็นเจ้าของให้ลูกคนไหนดีซึ่งถ้าตัดสินใจไม่ดีความขัดแย้งย่อมเกิดขึ้นได้

ตำแหน่งหน้าที่การงานก็เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา เราจะเห็นว่า ลูกชายคนโตมักจะอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าคนรอง ถ้าน้องชาย มีความเก่งกาจ โอกาสที่จะแซงหน้าพี่ชายได้อาจจะยากหน่อย หรือเห็นลูกสาวมักจะทำงานในส่วนที่เกี่ยวกับการเงิน การบริหารบุคลากร ในขณะที่ลูกชาย ทำการตลาด การขาย เป็นต้น ดังนั้นเรื่องโครงสร้างครอบครัวกับหน้าที่การงานหรือการลำดับความสำคัญระหว่างความอาวุโสกับตำแหน่งหน้าที่การงานในการบริหารธุรกิจ เป็นเรื่องที่จะต้องมาตกลงกันให้ชัดเจน

ในโครงสร้างของครอบครัวใหญ่ อาจจะมีประเด็นเรื่องการลำดับญาติของสมาชิกแต่ละสาย เพราะบางครอบครัวสมาชิกในรุ่น 3 สายแรก ๆ อาจจะมีอายุมากกว่าสมาชิกในรุ่น 2 สายปลาย ๆ เนื่องจากสายแรก ๆ มีลูกเร็ว เป็นต้น สมาชิกบางสายที่ไม่มีลูกมีการรับบุตรบุญธรรมเข้ามาเป็นลูก ในขณะที่พี่น้องไม่ยอมรับเมื่อเทียบกับลูก ๆ ที่เป็นสายเลือด ซึ่งหากไม่ได้คุยตกลงกันไว้ก่อนอาจนำมาซึ่งความไม่เข้าใจกันได้ บุตรบุญธรรมที่สมาชิกสายอื่นไม่ยอมรับ ทำให้ไม่มีโอกาสได้เงินสนับสนุนจากเงินกองทุนครอบครัว ปล่อยให้สายที่รับบุตรบุญธรรมต้องดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ทำให้สมาชิกสายนั้นไม่พอใจที่เงินกองทุนครอบครัวที่ตัวเองมีส่วนร่วมสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการสนับสนุนลูกหลาน กลับไม่ได้มีการสนับสนุนกับลูกบุญธรรมของตัวเอง แล้วในที่สุดก็เลยถอนตัวออกจากเงินกองทุนนั้นไป

โครงสร้างของบางครอบครัวเปิดโอกาสให้สมาชิกที่ไม่ใช่สายเลือดคือ เขย สะใภ้ เข้ามาร่วมงานในธุรกิจครอบครัวด้วย ประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกันว่าสมควรหรือไม่ โดยมีทั้งแบบเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ครอบครัวที่ให้เขย หรือสะใภ้ เข้ามาร่วมงานก็มีความเห็นว่า เขย สะใภ้ที่เก่งก็มี และไม่ใช่คนอื่นไกลเราสามารถไว้วางใจได้มากกว่าคนนอกที่รับเงินเดือนอย่างเดียวถ้าไม่พอใจก็ไม่อยู่กับเรา ในขณะที่เขย สะใภ้เก่ง ๆ ก็ให้เข้ามาช่วยลูกชาย ลูกสาวบริหารธุรกิจของเราให้เจริญรุ่งเรืองได้ บางครอบครัวสมาชิกมีจำนวนน้อยหวังพึ่งเขยหรือสะใภ้ให้เข้ามาช่วยกันทำงาน บางครอบครัวสะใภ้เข้ามาทำงานควบคู่กับลูกชาย เพื่อเป็นคนสอดส่องดูแลความประพฤติของลูกชายไปในตัว ในขณะที่ครอบครัวที่มีความเห็นไม่ให้เขยสะใภ้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวเลย เพราะกลัวว่าจะเกิดข้อขัดแย้งได้ง่าย เช่น สะใภ้ถูกว่ากล่าวตักเตือนอาจนำความไม่พอใจมาสู่พี่น้องได้ สะใภ้นอกจากทำงานแล้วยังต้องมีภาระเลี้ยงดูลูก ๆ ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการไปรับไปส่งโรงเรียน เรียนพิเศษ เจ็บไข้ได้ป่วย จึงใช้สิทธิ์ในการออกก่อนเวลา เข้างานช้าหรือทำงานไม่เต็มที่ และไม่มีใครสามารถทำอะไรได้ทั้งพนักงานระดับหัวหน้า สมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ ก็ไม่สามารถพูดได้ เรื่องราวเหล่านี้ เพื่อเป็นการตัดปัญหา ครอบครัวจำนวนไม่น้อยเลยออกกฎที่ไม่ให้ เขยหรือสะใภ้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวเลย

ในส่วนของความเสี่ยงจาก “โครงสร้างทางธุรกิจ” ที่เราอาจมองข้ามมันไปให้นึกถึงประเด็นต่อเนื่องมาจากโครงสร้างครอบครัว เช่น การวางตำแหน่งหน้าที่การงานของพี่น้องในแผนกต่าง ๆ ที่บางครั้งมีการซ้อนทับกัน คนเล็กมีตำแหน่งงานที่สูงกว่าคนโต ญาติต้องการสร้างอาณาจักรในองค์กร สายครอบครัวสร้างอิทธิพลไปยึดฝ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง สะใภ้ได้รับการละเว้นในเวลาเข้าออกงาน สมาชิกได้รับการยกเว้นในการประเมินผลงาน สมาชิกทุกคนได้รับเงินเดือนที่เท่า ๆ กันไม่ว่าจะเพิ่งเข้ามาทำงาน หรือคนพี่จะได้รับเงินเดือนที่สูงกว่าคนน้องไม่ใช่จากความสามารถแต่เพราะเป็นพี่ เป็นต้น จะเห็นว่าเรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องที่บางครั้งผู้ก่อตั้งมองข้ามมันไป เสมือนภูเขาน้ำแข็งที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นรอวันที่จะระเบิดออกมา

FIRM

ความเสี่ยงเรื่องโครงสร้างครอบครัว และโครงสร้างเรื่องธุรกิจจะต้องมีการจัดการเสียแต่เนิ่น ๆ ปัญหาระหว่างพ่อ-ลูก ถือเป็นเรื่องที่ครอบครัวเข้ามาขอคำปรึกษามากที่สุด พ่อ แม่ที่เคี่ยวเข็ญลูก กับพ่อแม่ที่ตามใจ ผลที่ตามอาจออกมาไม่เหมือนกัน พ่อแม่ที่กำหนดกฎระเบียบ และพยายามสอนลูกให้รู้จักธุรกิจที่สร้างขึ้นมา ลูก ๆ ก็ให้การเชื่อฟังและปฏิบัติตาม ในขณะที่พ่อแม่ที่ตามใจให้ลูกตัดสินใจดำเนินชีวิตก็จะได้ผลลัพธ์ที่ลูกอาจจะไปทำธุรกิจส่วนตัว การวางแผนให้ลูกเสียแต่เนิ่น ๆ การหันหน้าเข้าพูดคุยกัน การประชุมที่เป็นกิจจะลักษณะกำหนดทิศทางธุรกิจให้ชัดเจนจึงเป็นทางออกที่ดี ทั้งยังช่วยในการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยใช้การประชุม ใช้คณะกรรมการที่ประชุมเป็นคนกลางในการกลั่นกรองความคิดระหว่างพ่อกับลูก

หนทางการลดปัญหาเรื่องความขัดแย้งเรื่องโครงสร้างระหว่างพี่น้องคือ การทำข้อตกลงเรื่องสิทธิ์และหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวให้มีความชัดเจนว่า ในครอบครัวเราสมาชิกที่เป็นสายเลือดตรงจะมีสิทธิ์และหน้าที่อะไรบ้าง ในครอบครัวเราจะใช้ความอาวุโสเป็นหลัก แต่ถ้าในเรื่องธุรกิจเราจะมองที่ตำแหน่งหน้าที่การงาน และความสามารถเป็นต้น สำหรับสมาชิกที่ไม่ใช่สายเลือดในครอบครัวเราคือ เขยและสะใภ้ซึ่งจะมีสิทธิ์ที่แตกต่างจากสมาชิกสายเลือดตรงไหนบ้าง การตกลงในเรื่องนี้เพื่อที่ทุกคนจะได้เข้าใจและยึดถือปฏิบัติต่อไปจนเกิดเป็นวัฒนธรรมของครอบครัวต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน

การเขียนแผนการจ้างงาน และผลตอบแทนของสมาชิกเป็นการลดความขัดแย้งในเรื่องโครงสร้างด้านการบริหารธุรกิจ เพราะถ้าไม่มีการตกลงเรื่องสมาชิกที่จะเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัว จะทำให้เกิดปัญหากระทบกระทั่งกันระหว่างพี่น้อง หรือพนักงานในทุกลำดับชั้น เพราะสมาชิกทุกคนเมื่อจบแล้วอาจมองว่าธุรกิจครอบครัวเป็นสิ่งที่ปูทางเตรียมให้เดินเข้ามาอย่างง่ายดาย โดยเรียกร้องเงินเดือนสูง หรือตำแหน่งที่ดีโดยไม่ได้มองตัวเองมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นพนักงานอาจเริ่มรู้สึกถึงความไม่เป็นมืออาชีพได้

สนใจสมัครสมาชิกสมาคม AFBE

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *