รักลูกเท่ากันแต่จ่ายเงินเดือนไม่เท่ากันได้ไหม ?

รักลูกเท่ากันแต่จ่ายเงินเดือนไม่เท่ากันได้ไหม

ในเรื่องเงินเดือนและผลตอบแทน เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ายากนักที่จะมีพนักงานพอใจ 100%  เพราะพนักงานก็จะมีการเปรียบเทียบกันตลอดเวลาว่าทำไมเราได้น้อยกว่าคนอื่น ทั้งๆ เรามีความรับผิดชอบมากกว่า ทำงานดีกว่า อาวุโสกว่า ประสบการณ์มากกว่า ฯลฯ องค์กรต่างๆ จึงมีนโยบายให้เรื่องเงินเดือนเป็นความลับที่ห้ามเปิดเผยระหว่างกัน แต่ความลับก็ดูเหมือนจะไม่มีในโลกอยู่ร่ำไป

ยิ่งเมื่อเป็นเรื่องของการให้ผลตอบแทนสมาชิกในธุรกิจครอบครัว ซึ่งเป็นบุตรหลาน หรือญาติ พี่น้องเราในธุรกิจครอบครัว ปัญหานี้ยิ่งทวีความซับซ้อนขึ้นไปอีก จากการที่ได้ทำงานใกล้ชิดให้คำปรึกษาธุรกิจครอบครัวของทีมงาน สมาคมผู้ประกอบธุรกิจครอบครัว (AFBE) พบว่าปัญหาการกำหนดเงินเดือน ค่าจ้าง ผลตอบแทนให้สมาชิกครอบครัวเป็นเรื่องที่หลายครอบครัวประสบปัญหาในรูปแบบต่างๆ  อาทิ การที่สมาชิกบางคนมีความรู้สึกว่าได้รับเงินเดือนน้อยกว่าหน้าที่ความรับผิดชอบที่ทำอยู่ น้อยกว่ามาตรฐานในตลาด หรือน้อยกว่าสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว  หรือสมาชิกบางคนมีไลฟ์สไตล์ส่วนตัว มีการเข้าสังคม ซึ่งมีรายจ่ายสูงจึงต้องการเงินเดือนสูง ขณะที่สมาชิกบางรายไม่นิยมความฟุ่มเฟือย ไม่มีครอบครัว ไม่มีลูก จึงพอใจกับระดับเงินเดือนมาตรฐาน  และ อยากให้ธุรกิจเก็บกำไรไว้จ่ายไว้ลงทุนขยายกิจการมากกว่า

ซึ่งมีหลักเกณฑ์ วิธีการในการให้ผลตอบแทนที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความจำเป็นและโครงสร้างครอบครัว ที่หลากหลาย ครอบครัวขนาดเล็ก ครอบครัวขนาดใหญ่  ไม่ว่าจะให้แบบไหนด้วยเหตุผลใดก็มีข้อดีและข้อเสียที่ควรระวัง

การให้ผลตอบแทนตามใจผู้ก่อตั้ง

เพราะธุรกิจเป็นของตัวเองจึงไม่ต้องมีมาตรฐานใดๆ ขอให้ลูกๆ ได้เข้ามาทำงานก็พอ เราพบเห็นในหลายครอบครัวที่พ่อจะให้เงินเดือนลูกตามความพอใจ มีทั้งมากน้อยแตกต่างกัน ถ้าเป็นลูกคนเดียวหรือมีลูกเข้ามาทำงานแค่คนเดียว จะไม่ค่อยมีปัญหาเพราะไม่มีใครมาเปรียบเทียบ แต่ถ้าบ้านไหนมีลูกเข้ามาทำงานตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไป ก็จะเริ่มมีประเด็นให้ต้องคิดแล้ว สมมุติถ้าลูกคนแรกเข้ามาทำงานให้เงินเดือน 50,000 บาท ลูกคนที่ 2 เข้าทำงานในอีก 2 ปีหลังจบการศึกษา และได้เงินเดือนเท่ากับคนแรก อะไรจะเกิดขึ้น ? คนแรกอาจจะเริ่มรู้สึกว่าเค้าทำงานมาก่อน มีประสบการณ์มากกว่าทำไมได้เงินเดือนเท่ากัน

หรือ สมาชิก 2 คนเงินเดือนเท่ากันแต่ถ้างานมีความยากง่ายแตกต่างกัน หรือถ้าขึ้นเงินเดือนลูกคนหนึ่งที่ดูมีผลงานมากกว่า  อีกคนจะทำอย่างไร ? หรือคนหนึ่งทำงานข้างนอกอีกคนทำงานธุรกิจครอบครัวมาโดยตลอด พอจะดึงลูกที่ทำงานข้างนอกเข้ามาจะต้องจ่ายเงินเดือนที่สูงขึ้น สมาชิกที่ทำข้างในจะทำอย่างไร หลายครอบครัวมักจะให้เงินเดือนลูกคนโตสูงกว่าคนรองด้วยเหตุผลว่าเค้าเป็นพี่หรือเพราะอะไร เป็นต้น

วิธีการนี้สามารถใช้ได้ในช่วงที่ผู้ก่อตั้งบริหารงานอยู่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปครอบครัวใหญ่ขึ้นแยกออกมาหลายสายครอบครัว อาจนำความยุ่งยากมาสู่รุ่นต่อไปในการกำหนดผลตอบแทนว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป

การให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าอัตราตลาดในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือต่ำกว่ามืออาชีพที่จ้างเข้ามา

สมาชิกครอบครัวที่รู้สึกว่าตัวเองได้เงินเดือนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทำงานหนักแต่รับผิดชอบสูง  สมาชิกบางคนเอาไปเปรียบเทียบกับที่ตนเองเคยทำงานข้างนอก มีเลขา มีรถประจำตำแหน่ง ทำงานวันจันทร์ถึงวันศุกร์ พอเข้ามาทำที่บ้านกลับต้องทำงานวันจันทร์ถึงวันเสาร์และต้องทำงานไม่เป็นเวลา ผลตอบแทนที่ได้น้อยกว่ามาก  บางคนบอกว่าไม่พอกับค่าครองชีพ หรือค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน อาจจะน้อยกว่าจริง หรือบางคนมีภาระค่าใช้จ่ายมากกว่าปกติ เช่น มีครอบครัว มีภาระต้องผ่อนบ้าน ฯลฯ เลยรู้สึกว่าผลตอบแทนน้อยและมีความพยายามขอเพิ่มเงินเดือน ในขณะที่พ่อก็ให้เหตุผลว่าต้องช่วยกันประหยัดยังไงธุรกิจก็เป็นของลูกในอนาคต ทุกปีมีการจ่ายเงินปันผล เงินโบนัส เงินแต๊ะเอียให้ในจำนวนที่เยอะอยู่แล้ว ไม่ว่าอ้างเหตุผลใดๆ สมาชิกหลายคนก็ยังรู้สึกไม่พอใจอยู่ดี และถ้ามีจำนวนสมาชิกมาเปรียบเทียบมากเท่าไร ก็ยิ่งมีปัญหามากเท่านั้น

การให้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่ามาตรฐาน

หลายครอบครัวใช้วิธีนี้เพื่อจูงใจให้สมาชิกมีความพอใจในการเข้ามาทำงานช่วยธุรกิจครอบครัว ไม่ว่าสมาชิกจะมีฝีมือหรือไม่ก็ตาม การให้ผลตอบแทนด้วยอัตราสูงนี้ มีหลายวิธี อาทิ การให้เงินเดือนโดยตรงในระดับที่เป็นที่พอใจของสมาชิก โดยวิธีนี้จะเหมาะกับครอบครัวที่จำนวนสมาชิกน้อย สมาชิกอยู่ในระดับบริหารซึ่งอาจมีทั้งเงินเดือน และผลตอบแทนอื่นๆ ที่สามารถดูแลครอบครัวของสมาชิกเองได้อย่างสบายๆ ครอบครัวที่ใช้วิธีนี้มักเป็นธุรกิจที่เป็นของครอบครัวทั้งหมด และธุรกิจที่ทำก็มีกำไรมากพอที่จะดูแลสมาชิกได้เป็นอย่างดี ผลตอบแทนรวมถึงการมีรถยนต์ประจำตำแหน่ง มีคนขับรถ การเป็นสมาชิกในคลับต่างๆ หรือมี Business Trips ที่ครอบครัวได้รับจากคู่ค้า

แต่ก็อาจมีประเด็นปัญหาต้องพิจารณา เช่น ถ้าธุรกิจมีสมาชิกถือหุ้นหลายคน มีทั้งสมาชิกที่ทำงานและถือหุ้น กับสมาชิกที่ถือหุ้นอย่างเดียวแต่ไม่ได้เข้ามาทำงาน อาจเกิดคำถามจากกลุ่มหลังว่า ค่าใช้จ่ายบริษัทถูกนำไปจ่ายเป็นเงินเดือนที่สูงให้สมาชิกที่ทำงาน จนทำให้เงินปันผลที่เขาควรจะได้ถูกหารน้อยลงและอาจไม่ได้ในบางปี หรือถ้ามีหุ้นส่วนที่เป็นคนนอก ก็เป็นประเด็นความเหมาะสมของเงินเดือนเทียบกับผลงานว่าสมน้ำสมเนื้อกันแค่ไหนมีอะไรเป็นตัวชี้วัดประเมินผล ฯลฯ

ไม่ว่าผู้ก่อตั้งธุรกิจจะเลือกใช้วิธีไหนก็ดูเหมือนจะมีปัญหาไม่มากก็น้อย บางทีอาจไม่เกิดในรุ่นพ่อหรือผู้ก่อตั้ง แต่เรื่องเหล่านี้จะค่อยๆ เกิดขึ้นในรุ่นต่อๆ ไป เวลาไปพบครอบครัวมักจะสัมภาษณ์สมาชิกว่าพอใจกับผลตอบแทนมากน้อยแค่ไหน เพราะตัวเลขจำนวนเงินที่แต่ละคนได้รับก็สามารถวัดความรู้สึกของสมาชิกครอบครัวได้เหมือนกัน จึงอยากให้ข้อแนะนำหรือไอเดียไว้ให้เป็นแนวทางในการพิจารณาประเด็นในเรื่องของการให้เงินเดือน และผลตอบแทนสมาชิกในธุรกิจครอบครัว เพื่อสร้างข้อตกลง เรื่องนโยบายการจ้างงานและผลตอบแทน  เพื่อความชัดเจนและเป็นที่ยอมรับกันในหมู่สมาชิกครอบครัว ดังต่อไปนี้ ดังนี้

  1. ผลตอบแทนเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก อันเป็นนามธรรมที่จะต้องทำให้เป็นรูปธรรมโดยการสร้างหลักการที่ต้องมาตกลงกันในธรรมนูญครอบครัว ถ้าทิศทางครอบครัวมุ่งสู่ความเป็นมืออาชีพ ผลตอบแทนต้องอิงมาตรฐานธุรกิจประเภทเดียวกันด้วย
  2. การอิงมาตรฐานธุรกิจเดียวกัน คำนึงถึงประสบการณ์ที่ตรงกับตำแหน่งงาน ระดับการศึกษาที่ต้องการ ความสามารถพิเศษที่เป็นประโยชน์กับธุรกิจ
  3. การจ่ายเงินเดือนที่สูงเกินมาตรฐานไปมาก อาจมาจากเหตุผลสมาชิกมีครอบครัว อยู่ในช่วงสร้างเนื้อสร้างตัว มีค่าใช้จ่าย ครอบครัวอาจพิจารณาจัดตั้งเงินกองทุนครอบครัว ทำสวัสดิการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือสมาชิกครอบครัว ในอัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันแทนที่จะจ่ายเป็นเงินเดือนโดยตรง
  4. กรณีหากต้องการให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นกว่าปกติเพื่อจูงใจสมาชิกให้ทำงานกับครอบครัว สามารถพิจารณาให้ผลตอบแทนอื่นที่นอกเหนือจากเงินเดือน หรือกำหนดผลตอบแทนพิเศษจากเงินกองทุนครอบครัวที่สร้างขึ้นได้ โดยแยกให้เด็ดขาดจากเงินเดือนประจำ
  5. สมมุติว่าต้องเลือกระหว่างมืออาชีพกับสมาชิกครอบครัวที่จะขึ้นเงินเดือนหรือโปรโมท ถ้าความสามารถเท่าๆ กันก็ต้องเลือกสมาชิกครอบครัว แต่ถ้ามืออาชีพเก่งกว่าก็ต้องเปิดทางให้มืออาชีพ
  6. สมาชิกครอบครัวควรจะเข้าระบบประเมินผลให้เป็นกิจจะลักษณะเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพของสมาชิกคนนั้น
  7. ครอบครัวเล็ก มีสมาชิกไม่กี่คนการรักลูกเท่ากันไม่จำเป็นต้องให้เงินเดือนที่เท่ากัน มีอีกหลายวิธีที่ให้ผลประโยชน์กับลูกๆ ลองตั้งโจทย์คิดใหม่ว่า ถ้าลูกเราคือมืออาชีพ หลักการจ่ายเงินเดือนให้มืออาชีพเราพิจารณาจากอะไรบ้าง เราพอใจจ่ายเงินให้มืออาชีพ 2 คนนี้เท่าไหร่ ก็จะเริ่มคิดออกว่าควรให้ผลตอบแทนลูกๆ แต่ละคนเท่ากันหรือไม่และก็จะมีเหตุผลตอบลูกๆ ทุกคนได้

สนใจสมัครเข้าร่วมสมาคม AFBE

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *