การสืบทอดกิจการตระกูล Ford เมื่อลูกไม้หล่นใต้ต้น ใต้เงาต้นไม้ใหญ่ (เกินไป)

การสืบทอดกิจการตระกูล-Ford-เมื่อลูกไม้หล่นใต้ต้น-ใต้เงาต้นไม้ใหญ่-(เกินไป)

กรณีศึกษาของการที่ผู้ก่อตั้งบดบังรัศมีทายาทนั้นเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยครั้งในธุรกิจครอบครัวที่ประสบผลสำเร็จอย่างสูงทั่วโลก เนื่องจากเราพบว่าธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จด้วยความสามารถของคนรุ่นก่อตั้งนั้น ความเป็นอัจฉริยะของผู้ก่อตั้งไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้โดยง่าย หรือโดยอัตโนมัติ

ถ้าใครเคยได้ดูภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์เรื่อง FORD V FERRARI ที่ออกฉายในปี 2019  หนังเรื่องนี้สร้างมาจากเหตุการณ์จริงในช่วงเวลาที่ FORD ผู้มั่งคั่งต้องการที่จะลงสนามแข่งรถเพื่อที่จะเอาชนะผู้ครองแชมป์คือ FERRARI เมื่อกว่า  50 ปีมาแล้ว  ในที่นี้ผู้เขียนจะไม่ขอเล่าเรื่องราวการแข่งรถของทั้ง 2 ทีม แต่ขอบอกว่าหนังสนุกมากเรื่องหนึ่ง แต่จะขอจับเหตุการณ์สำคัญช่วงตอนที่ FERRARI ประกาศขายบริษัทเพราะทุ่มเงินไปกับการแข่งรถเพื่อชื่อเสียงความสะใจจนทำให้ขาดสภาพคล่อง  เรื่องไปเข้าหูทายาทรุ่นที่ 3 คือ Henny Ford II ผู้มั่งคั่งจากสิ่งที่ Henny Ford ผู้เป็นปู่ได้สร้างไว้ จึงตัดสินใจส่งผู้บริหารดาวรุ่งคือ Lee Iacocca ไปขอซื้อกิจการกับเจ้าของ FERRARI นั่นคือนาย Enzo Ferrari ที่อิตาลี ด้วยความมีชื่อเสียงของ Ford ข้อเสนอดูเหมือนจะเอาเปรียบ Ferrari พอควร  Enzo Ferrari  ได้ตอบปฏิเสธในทันทีทันใดโดยให้เหตุผลว่า คุณไม่ใช่ Henny Ford คุณมันคือ Henny Ford II ดังนั้นไม่ขาย เกิดอะไรขึ้น มันหยามกันชัดๆ

และในที่สุด Enzo Ferrari  ก็ขายธุรกิจให้ตระกูล Agnellis เจ้าของ Fiat นั่นเอง  เรื่องราวในหนังจะเป็นอย่างไรลองไปหาชมดู แต่เรามาลองศึกษาประวัติธุรกิจครอบครัว Ford กันหน่อยว่า Henry Ford สร้างชื่อเสียงจนบดบังความสามารถของทายาทในรุ่นต่อไปกันได้อย่างไร

                                                                                                       Henry Ford

Henny Ford ถือเป็นผู้ประกอบการที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุดของอุตสาหกรรมรถยนต์ เกิดที่มิชิแกนในปี 1863 เขาสนใจในเรื่องเครื่องยนต์กลไกตั้งแต่เด็กๆ หลังจากแม่เสียชีวิต Henry Ford ซึ่งเป็นพี่คนโตในจำนวนน้องอีก 8 คน ครอบครัวเริ่มลำบาก เขาเลยทำงานหามรุ่งหามค่ำและทำงานไปด้วยเรียนด้านธุรกิจไปด้วย พร้อมด้วยแรงผลักดันที่สูง มีความสามารถเฉพาะตัว ความหลงไหลในเครื่องยนต์ และความเป็นอัจฉริยะ จึงได้ทำงานที่บริษัทเกี่ยวกับวิศวกรรมเครื่องยนต์ในบริษัทชั้นนำ รายได้ดีมาก  ในที่สุด Henry Ford ก่อตั้ง Ford Motor Company และผลิตรถยนต์สำหรับชนชั้นกลางในราคาที่จับต้องได้ ด้วยระบบการผลิตแบบ Mass Production ธุรกิจประสบผลสำเร็จ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก พิสูจน์จากภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 รถกว่าครึ่งในโลกนี้เป็น Ford Model T นั่นเอง Henny Ford เป็นอัจฉริยะ หลงไหลในเครื่องยนต์ แต่เป็นคนหัวแข็ง มั่นใจในตัวเองสูง ไม่รับการเปลี่ยนแปลงในเชิงธุรกิจ และยึดมั่นในความคิดจนกว่าจะจำเป็นจริงๆ เห็นได้จาก Ford Model T จึงมีรูปแบบเดียวกันและไม่เคยเปลี่ยนดีไซน์เลย (การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตอนคู่แข่งได้ทำยอดขายแซงหน้าไปแล้ว)

Henny Ford มีทายาทแค่คนเดียวคือ Edsel Ford สิ่งที่ลูกแตกต่างจากพ่อคือ เค้าไม่ใช่นักเครื่องยนต์กลไก รู้เรื่องเครื่องยนต์จริงแต่พัฒนาต่อไม่ได้ พ่อผู้ประสบผลสำเร็จจึงเคี่ยวเข็นลูกชายคนเดียวตั้งแต่ยังเด็กเพื่อให้สืบทอดธุรกิจที่ได้สร้างขึ้น Edsel ถูกนำเข้าทำงานตั้งแต่วัยรุ่นเรียนรู้งานทุกแผนก และไม่ต้องเรียนหนังสือโดยพ่อมองว่าประสบการณ์สำคัญกว่าการเรียนหนังสือ บนการทำงานในธุรกิจ Henry Ford จะเป็นคนตัดสินใจทุกอย่าง

                                                                                           Henry Ford และ Edsel ford

Edsel ขึ้นเป็นผู้บริหารแต่เป็นที่รู้กันว่านี่คือลูกของเจ้าของ Edsel พยายามเสนอการปรับปรุงดีไซน์ Ford Model T เพราะคู่แข่งเติบโตอย่างรวดเร็วแต่ก็ได้รับการปฎิเสธ Edsel เองก็พยายามออกจากร่มเงาพ่อเพื่อหาหนทางของตัวเอง แต่ก็ดูเหมือนจะยากยิ่งในขณะเดียวกัน Henny Ford ก็มีมือขวาที่เป็นมืออาชีพที่มีความสามารถอีกด้วย การทำงานไปได้ไม่ราบรื่นกับมืออาชีพ Edsel ถูกผลักดันให้ทำงานที่หนัก ในที่สุด Edsel  หันมาดื่มเหล้า และเสียชีวิตในวัย 49 ปีจากมะเร็งลำไส้

                                                                                                    Henry Ford II

รุ่นที่ 3 ลูกของ Edsel Ford คือ Henny Ford II ได้เดินเข้าสู่ธุรกิจต่อจากพ่อในปี 1943 โดยรับรู้เรื่องราว กิตติศักดิ์ของผู้เป็นปู่เป็นอย่างดี Ford II เข้าวงการรถยนต์โดยทางมรดกครอบครัวไม่ใช่โดยความหลงใหล ศึก 2 ด้านบังเกิด ศึกภายนอกที่ต้องฝ่าฟันกับชื่อเสียงที่คุณปู่สร้างไว้สู่จุดสูงสุด คู่แข่งในอุตสาหกรรมรถยนต์มีความแข็งแกร่งขึ้น ตอบโจทย์ลูกค้านั่นคือรถยนต์ไม่ใช่แค่ยานพาหนะที่นำคนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง แต่กลายเป็นยานพาหนะที่เจ้าของต้องการให้คนอื่นเห็นด้วยเวลาเดินทาง ศึกภายในหนักหนาไม่แพ้ศึกภายนอกทั้งจากคุณปู่ Henny Ford ที่ทำเป็นไม่สนใจหลาน และแถมให้ท้ายมืออาชีพอีก การหาผู้นำธุรกิจที่เกิดขึ้นจึงศึกระหว่างมืออาชีพ และ Henny Ford II แต่ในที่สุดแล้ว สายเลือดเข้มข้นกว่าน้ำ คนในครอบครัวก็รวมพลังกันต่อสู้กับ Henry Ford และ Henny Ford II ก็ขึ้นเป็นผู้นำ เหลือแต่ศึกภายนอกที่ต้องพิสูจน์ตัวเอง สร้างความน่าเชื่อถือให้เป็นที่ยอมรับ ในหนังเรื่อง Ford V Ferrari ก็สะท้อนบอกเล่าเรื่องราวถึงการโดนดูถูก แต่ในที่สุดก็ต้องทำทุกวิถีทางที่จะลบคำสบประมาทเหล่านั้น

การสานต่อธุรกิจจากความยิ่งใหญ่ของผู้ก่อตั้งที่ได้สร้างมาด้วยความหลงใหล ความเป็นอัจฉริยะ เมื่อถึงเวลาต้องส่งต่อธุรกิจ มันเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมากสำหรับลูกหลานที่จะสานต่อ ตั้งแต่ลูกหลานมีความสามารถเท่าเทียมพ่อหรือไม่ มีทัศนคติ ค่านิยมเดียวกันหรือไม่ ทางเลือกคือจะสู้ฝ่าฟัน ถกเถียงกัน อาจต้องเหนื่อย ทำร้ายความรู้สึกกันบ้าง เพื่อสานต่อ และรักษาชื่อเสียงตลอดจนความมั่งคั่ง  หรืออีกทางหนึ่งคือเลือกที่จะอยู่อย่างสงบ หรือถอย และหาหนทางทำในสิ่งที่ตัวเองชอบโดยไม่ทำร้ายความสัมพันธ์ในครอบครัว และสุดท้ายแล้วธุรกิจก็อาจไม่มีผู้สืบทอดเพื่อสานต่อชื่อเสียง ความหลงใหล และต้องสิ้นสุดลงไปในระยะเวลาอันสั้น

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก

  • David S. Landes, “Dynasties : Fortunes and Misfortunes of The World’s Great Family Businesses” 2006
  • Grant Gordon & Nigel Nicholson, “Family Wars : Stories and Insights From Famous Family Business Feuds” 2008

สนใจสมัครสมาชิกสมาคม AFBE

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *