บทบาทชัดเจนของครอบครัวมั่นคง เป็นอย่างไร ?

บทบาทชัดเจนของธุรกิจครอบครัวเป็นอย่างไร.

เมื่อครอบครัวและธุรกิจมีการเติบโตและขยายตัวไปตามกาลเวลา จำนวนสมาชิกที่มีเพิ่มขึ้นจากรุ่นสู่รุ่น ความไม่ชัดเจนก็จะมีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน หากต้องการให้ครอบครัวมีความมั่นคงมากขึ้นจะต้องการกำหนดบทบาท หน้าที่ของสมาชิกให้มีความชัดเจน เพื่อให้ทุกคนรู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง มีการกำหนดผลประโยชน์และผลตอบแทนที่เป็นธรรม เกิดความยุติธรรม รักใคร่ปรองดอง และ ทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืนเจริญเติบโตต่อไปได้อย่างราบรื่น

โดยทั่วไปแล้ว ภายใต้หลักการจัดทำธรรมนูญครอบครัว เรามักจะจัดแบ่งสมาชิกครอบครัวออกเป็น 4  กลุ่มใหญ่ๆ ตามบทบาทหน้าที่ในธุรกิจครอบครัว และการถือครองหุ้นดังนี้

การแบ่งสมาชิกครอบครัวภายใต้ธรรมนูญครอบครัว

1.สมาชิกที่ทำงานในธุรกิจครอบครัว และมีความเป็นเจ้าของโดยการถือหุ้นของธุรกิจครอบครัว

สมาชิกกลุ่มนี้ถือว่ามีบทบาทสำคัญที่สุดในธุรกิจครอบครัว เนื่องจากมีบทบาททั้งในแง่ของการถือครองหุ้น และความรับผิดชอบในธุรกิจของครอบครัว สมาชิกในกลุ่มนี้มีตั้งแต่ ผู้ก่อตั้ง ลงมาถึงทายาทที่ได้รับโอนหุ้นมาเรียบร้อยแล้ว โดยที่ทายาทอาจจะมีตำแหน่งเป็นผู้บริหาร หรือแค่พนักงานธรรมดาก็ได้

สมาชิกกลุ่มนี้สามารถจัดแบ่งซอยลงมาได้อีกตามบทบาทในธุรกิจครอบครัวคือ

1.1 สมาชิกที่ทำงานในธุรกิจครอบครัว และมีตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง (Operating Owner)
ตั้งแต่ CEO ลงไป ทำหน้าที่วางแผน ตัดสินใจ สั่งการ กำหนดกลยุทธ์ มีส่วนได้ส่วนเสียกับรายได้ ผลกำไรของธุรกิจ ผลตอบแทนที่สมาชิกกลุ่มนี้ได้รับ นอกจาก เงินปันผลในฐานะผู้ถือหุ้นแล้ว ยังได้จากธุรกิจคือ เงินเดือนในตำแหน่งนั้น ๆ เงินโบนัส ผลตอบแทนอื่น ๆ เช่น รถประจำตำแหน่ง เงินรางวัลต่าง ๆ ตามแต่ครอบครัวจะตกลงกัน

1.2 สมาชิกที่มองภาพรวมธุรกิจ หรือเป็นที่ปรึกษาเรื่องกลยุทธ์ต่าง ๆ แต่ไม่มีส่วนในการสั่งการ (Governing Owner)
สมาชิกกลุ่มนี้อาจเป็นผู้อาวุโสที่ผ่านการทำงานมาพอสมควร หรือสมาชิกที่เกษียณอายุทำงาน และเข้ามาเป็นที่ปรึกษา เป็นต้นสมาชิกกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะได้รับแต่งตั้งให้นั่งอยู่ในคณะกรรมการธุรกิจ ผลตอบแทนที่ได้คือ เงินปันผล และได้เงินเดือนหรือเบี้ยประชุมบอร์ดธุรกิจ

สมาชิกที่มีความเป็นเจ้าของโดยการถือหุ้น และมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจถือว่าเป็นสมาชิกที่มีความสำคัญมากที่สุด เพราะผลประโยชน์ที่ได้จากธุรกิจครอบครัวนี้เป็นน้ำหล่อเลี้ยงให้สมาชิกครอบครัวทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดี และมีชีวิตได้อย่างสุขสบาย ดังนั้นบทบาทหน้าที่ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบชีวิตสมาชิกทุกคนจึงมีความสำคัญตามไปด้วย ครอบครัวมักแต่งตั้งให้สมาชิกกลุ่มนี้เข้าเป็นกรรมการในสภาครอบครัวเพื่อเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนครอบครัวให้เดินไปในทิศทางที่ต้องการ ตัวอย่างบทบาทหน้าที่ของกลุ่มนี้เช่น

  • สมาชิกจะต้องเป็นศูนย์รวม และประสานสมาชิกทั้งหมดให้มารวมกัน เพื่อสร้างกิจกรรมสร้างความสามัคคี รักใคร่ปรองดองกัน และต้องรายงานผลการดำเนินงานให้สมาชิกทุกคนได้ทราบ
  • สมาชิกจะต้องกำหนดวิสัยทัศน์ระยะยาว ทิศทางธุรกิจว่ากำลังเดินไปในทางทิศทางไหนเพื่อทุกคนจะได้มีความเข้าใจ และเดินไปในทิศทางเดียวกัน
  • สมาชิกต้องผลักดันหรือสานต่อค่านิยมครอบครัว และธุรกิจครอบครัวให้ปฏิบัติได้จริงตามเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้ง
  • สมาชิกต้องสร้างความมั่งคั่งให้ครอบครัว
  • สมาชิกจะต้องเอื้อประโยชน์ ดูแลสมาชิกครอบครัวรุ่นต่อไปให้พร้อมสำหรับการรับช่วงต่อธุรกิจ
  • สมาชิกจะต้องรักษาผลประโยชน์ของธุรกิจครอบครัวในทุก ๆ ด้านให้ดีที่สุด
  • สมาชิกจะต้องรักษาความลับของธุรกิจ ไม่เผยแพร่ข้อมูลความลับสู่ภายนอก

2. กลุ่มสมาชิกที่ทำงานในธุรกิจครอบครัว แต่ยังไม่ได้ถือหุ้น

สมาชิกกลุ่มนี้อาจเป็นกลุ่มทายาทที่เพิ่งจบการศึกษา หรือเพิ่งเริ่มต้นเข้ามาในธุรกิจ โดยผู้เป็นพ่อ แม่ ยังไม่ได้โอนหุ้นให้ สมาชิกกลุ่มนี้แน่นอนย่อมมีสิทธิ์พิเศษเหนือกว่าพนักงานทั่วไปตั้งแต่การเข้ามาทำงานโดยไม่ผ่านการคัดเลือกใด ๆ  ถ้าครอบครัวมีกฎระเบียบให้สมาชิกที่เพิ่งจบใหม่ไปทำงานข้างนอกเพื่อหาประสบการณ์ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งทางบ้านเพื่อสมาชิกจะได้ใช้ความสามารถพัฒนาด้วยตัวเอง และเมื่อกลับเข้ามาทำในธุรกิจครอบครัว ก็สามารถใช้ประสบการณ์นั้นมาเสริมสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่งต่อไปโดยไม่เป็นที่ครหาของพนักงานทั่วไป บางครอบครัวมีการกำหนดว่า ถ้าสมาชิกคนใดไปสร้างชื่อเสียงภายนอกได้ จะได้รับคำยกย่องจากครอบครัว ครอบครัวใหญ่ในเมืองไทยมักจะให้ลูก ๆ อยู่ในธุรกิจที่มีความท้าทายมากกว่าธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จแล้ว บทบาทหน้าที่ที่สำคัญและพึงระลึกไว้เสมอคือ

  • สมาชิกต้องไม่ทำตัวอยู่เหนือพนักงานในตำแหน่งหน้าที่การงานเดียวกัน
  • สมาชิกต้องเข้าใจความที่เรามีสิทธิพิเศษบางประการ ดังนั้นจะต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่างแก่พนักงาน และอยู่ในกฎระเบียบข้อบังคับโดยเคร่งครัด
  • สมาชิกต้องหมั่นศึกษาความรู้ ประสบการณ์ เพื่อพัฒนาตนเอง
  • สมาชิกต้องช่วยกันสร้างภาพพจน์ที่ดีต่อธุรกิจครอบครัว
  • สมาชิกที่ทำงานจะต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมายอย่างสุดความสามารถ
  • สมาชิกต้องทำตัวเสมือนเป็นเจ้าของที่ต้องคอยดูแลให้ธุรกิจมีการพัฒนา และสามารถแข่งขันได้เพื่อเป็นรากฐานของความมั่งคั่งต่อไปในอนาคต

3. กลุ่มสมาชิกที่ถือหุ้นในธุรกิจครอบครัว แต่ไม่มีบทบาทในการบริหารและดูแลกิจการโดยตรง

กลุ่มนี้ส่วนมากจะเกิดขึ้นในครอบครัวที่มีจำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้น ทำให้หลายคนมีอิสระในการตัดสินใจว่า จะเข้ามาทำงานหรือไม่ หรือไม่ใช่ทุกคนจะต้องเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัวเสมอไปเพราะอาจไม่ได้สนใจในธุรกิจครอบครัว เรียนมาไม่ตรงกับธุรกิจ สมาชิกกลุ่มนี้จึงค่อย ๆ โตขึ้น ๆ หุ้นที่ได้รับการส่งต่อจากพ่อ แม่ลงมาก็จะเริ่มมีจำนวนสมาชิกที่ถือหุ้นเพิ่มมากขึ้น เราสามารถแยกประเภทสมาชิกในกลุ่มนี้ออกมาได้อีก เพราะแต่ละคนก็มีทัศนคติต่อความเป็นเจ้าของที่แตกต่างกันออกไป

3.1 กลุ่มสมาชิกที่ถือหุ้น และให้ความสนใจในธุรกิจ มีการติดตามผลการดำเนินงานคอยเสนอแนะ หรือแนะนำสิ่งต่าง ๆ ให้กลุ่มที่ทำงานด้วย แต่บางครอบครัวสมาชิกเข้ามายุ่งเกี่ยวกับธุรกิจมากไปก็อาจนำความไม่พอใจมาสู่สมาชิกที่ทำงานด้วย และอาจถูกมองว่าเข้ามาก้าวก่ายก็เป็นได้  มีบางครอบครัวแสดงอาการหงุดหงิดเมื่อสมาชิกที่ไม่ได้ทำงานแต่คอยวิจารณ์การทำงานของสมาชิกที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา แต่ในทางกลับกันอีกครอบครัวสมาชิกที่มีประสบการณ์ที่ทำงานอยู่ข้างนอก มีความสามารถมากก็สามารถให้ความเห็น แนะนำแนวทางและกลยุทธ์ให้กลุ่มที่ทำงานได้เป็นอย่างดี

3.2 สมาชิกที่ถือหุ้น แต่ไม่สนใจในธุรกิจครอบครัวแต่มีความภาคภูมิใจในธุรกิจที่บรรพบุรุษได้สร้างขึ้นมา สมาชิกกลุ่มนี้อาจเคยทำงานในธุรกิจครอบครัวมาก่อน และได้ลาออกมาแล้ว แต่ก็ยังคอยติดตามอยู่ห่าง ๆ มีความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จ กลุ่มนี้เมื่อมีหุ้นอยู่ก็จะเก็บรักษาหุ้นนั้นไว้รอวันที่จะส่งต่อให้ลูกหลานต่อไปในอนาคต

3.3 สมาชิกที่ถือหุ้น และเป็นนักลงทุน สิ่งที่เขาสนใจจะเป็นเรื่องของการลงทุนในกิจการต่าง ๆ ตัวเองอาจไม่เคยทำงานในธุรกิจครอบครัว แต่ได้หุ้นจากพ่อ แม่ที่โอนหุ้นลงมาตามสายครอบครัว ทำให้ตัวเองมีสถานะของความเป็นเจ้าของไปในตัวซึ่งสมาชิกนักลงทุนกลุ่มนี้ อาจมองว่าถ้าธุรกิจมีการเจริญเติบโตก็พยายามหาซื้อหุ้นจากสมาชิกท่านอื่นเข้ามาเพิ่มมากขึ้น หรือถ้าธุรกิจเป็น sunset ก็อาจไม่เก็บหุ้นและหาทางขายออกไปในที่สุด ถ้าไม่มีข้อตกลงเรื่องการห้ามขายหุ้นสู่บุคคลภายนอก หุ้นก็มีสิทธิ์กระจายออกไปสู่คนภายนอกได้

เมื่อเราเห็นความเป็นเจ้าของหรือสมาชิกที่ถือหุ้นมีมุมมอง และทัศนคติของธุรกิจครอบครัวที่ต่างกัน ดังนั้นการกำหนดบทบาทหน้าที่ และการทำข้อตกลงเรื่องการบริหารจัดการหุ้นในอนาคตให้มีความรัดกุมชัดเจนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ บทบาทหน้าที่ของสมาชิกที่ถือหุ้นทุกคนควรจะเข้าใจเรื่องการบริหารจัดการหุ้นให้ชัดเจนเพื่อความยั่งยืน ดังนี้

  • สมาชิกครอบครัวทุกคนสำนึกเสมอว่าตนเองถือหุ้นในธุรกิจครอบครัวเพื่อรุ่นต่อไป มิได้เป็นของคนใดคนหนึ่ง
  • หุ้นธุรกิจครอบครัวมีไว้สำหรับสมาชิกที่มีสิทธิ์ถือหุ้น ห้ามทำการขายธุรกิจครอบครัวสู่บุคคลภายนอก
  • สมาชิกจะต้องปฏิบัติตามสัญญาผู้ถือหุ้น และข้อบังคับบริษัทโดยเคร่งครัด
  • เมื่อสมาชิกที่ถือหุ้นแต่งงาน จะต้องมีการทำสัญญาก่อนสมรส (Prenuptial Agreements) เพื่อป้องกันกรณีพิพาทเมื่อเกิดมีการแยกทางกัน
  • สมาชิกที่ถือหุ้นควรจะเข้าประชุมผู้ถือหุ้นทุกครั้ง เพื่อลดปัญหาเรื่องการรับทราบข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน เช่น ผลประกอบการ นโยบายการบริหาร และข้อมูลทางการเงิน เป็นต้น

4. สมาชิกครอบครัวที่ไม่ได้ทำงานในธุรกิจครอบครัว และไม่ได้ถือหุ้น

สมาชิกที่เป็นสายเลือดมีตั้งแต่ลูกหลานตั้งแต่เกิด กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาต่าง ๆ สมาชิกที่แยกตัวเองออกจากครอบครัว หรือแต่งงานแล้วแยกตัวเองออกไปสร้างครอบครัวใหม่ ส่วนสมาชิกที่ไม่ใช่สายเลือดที่นับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนั่นคือ กลุ่มเขย และสะใภ้ ด้วย ซึ่งกลุ่มนี้มักจะเป็นกลุ่มที่มีปัญหาเกิดขึ้น เกิดการกระทบกระทั่งได้ตลอดเวลาเนื่องจากต่างคนต่างมาจากต่างครอบครัว การกำหนดบทบาทหน้าที่ของกลุ่มนี้ก็มีความสำคัญไม่แพ้กันกับสมาชิกกลุ่มอื่น ๆ สมาชิกกลุ่มที่เป็นสายเลือดแน่นอนเป็นกลุ่มที่จะได้รับการรับช่วงต่อธุรกิจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น ต่อไปจะได้รับการโอนหุ้นจากพ่อ แม่ จะได้รับข้อเสนอเข้าทำงานในธุรกิจครอบครัว จะได้รับเงินสวัสดิการในประเภทต่าง ๆ ที่ทางครอบครัวมีการตกลงกัน หรือแม้แต่มีสิทธิ์ในการกู้เงินจากเงินกองทุนครอบครัวเพื่อนำไปลงทุนในธุรกิจส่วนตัวก็เป็นได้ บทบาทหน้าที่ของสมาชิกกลุ่มนี้

  • สมาชิกครอบครัวต้องเข้าร่วมกิจกรรมสำคัญของครอบครัว เช่น การไหว้บรรพบุรุษ
  • สมาชิกครอบครัวจะต้องศึกษา และปฏิบัติตามธรรมนูญครอบครัว โดยอยู่ภายใต้ธรรมนูญครอบครัวเดียวกัน
  • สมาชิกครอบครัวต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบของครอบครัว
  • สมาชิกครอบครัวจะปฏิบัติตามค่านิยมของครอบครัว ถ่ายทอด / ปลูกฝังสู่ลูกหลาน
  • สมาชิกต้องไม่ทำให้ชื่อเสียงของตระกูลได้รับความเสียหาย
  • สมาชิกครอบครัวจะต้องเคารพต่อผู้อาวุโส และดูแลเลี้ยงดูบุพการี

สนใจสมัครสมาชิกสมาคม AFBE

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *