ธุรกิจครอบครัวในยุคเปลี่ยนผ่านฉับพลัน (Family business in disruption era)

ย้อนไป 63 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเริ่มใช้ พระราชบัญญัติพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติครั้งแรก ในปี 2504 ในขณะนั้นมีจีนอพยพมาอยู่อาศัยในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง คนจีนโพ้นทะเลเหล่านั้นมีอายุมากน้อยคละกันไป คนจีนมีนิสัยขยัน อดทน อดออม มีความเคารพนับถือผู้มีอาวุโสกว่า มีความกตัญญูรู้คุณคน ช่างสังเกตุและไม่กลัวที่จะลำบาก คนจีนจึงมีโอกาสทำมาค้าขาย ซื้อมาขายไป กำไรครั้งละนิดหน่อยก็อดทนทำไป ขาดทุนนิดกำไรหน่อยก็ตื้อทำมาหากินไปเรื่อยๆ คุณสมบัตินี้เองเมื่อมาประกอบกับ พรบ พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มันทำให้คนจีนคนขยันได้ปัจจัยแห่งความสำเร็จในเชิงธุรกิจมากขึ้น เปลี่ยนจากการทำมาหากิน มาเป็นการทำธุรกิจนั่นเอง


มาถึงวันนี้ คนจีนเหล่านั้น สะสมกำไร ขยายธุรกิจของครอบครัวมา จนถึงระดับ ร้อย พัน หมื่นล้านบาท และอายุของตนก็อยู่ในช่วง 70-90 ปีกันบ้างแล้ว


ถ้าวันนี้ปัจจัยแวดล้อมในงานทำธุรกิจยังคงเหมือนกับเมื่อ 60 ปีที่แล้วในช่วงที่คนรุ่นแรกใช้ในการสร้างธุรกิจครอบครัวมาจนเป็นร้อย พัน หมื่นล้าน การส่งต่อธุรกิจในคนรุ่นต่อไปก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ในความเป็นจริงที่เห็นประจักษ์คือ ปัจจัยความสำเร็จในเชิงธุรกิจเปลี่ยนไปหมดแล้ว ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีส่งผลต่อการผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพ นอกจากนี้ความก้าวหน้าทางวิชาการ การตลาด และเครื่องมือทางการเงินที่มีมากมาย มันทำให้เกิดปัญหาใหญ่มากระหว่างคนสองวัยที่ใจเริ่มไม่ตรงกันในการทำธุรกิจ พ่อแม่มีเงินพร้อมส่งต่อให้ลูกๆระดับร้อย พัน หมื่นล้านที่ตนทำสะสมมา แต่ก็ไม่ไว้ใจลูกๆที่เกิดมาบนความรวยของครอบครัวว่าจะรักษาเงินเหล่านั้นไว้ได้ดีแค่ไหน หรือหวั่นใจว่าลูกๆจะทำเสียหายจนธุรกิจล้มเหลว ส่วนลูกๆเองก็มองความสามารถของพ่อแม่ในอดีตเป็นหนังประวัติศาสตร์ ที่ไม่สามารถฉายซ้ำในวันนี้ได้อีกแล้ว แต่อายุพ่อแม่มันบังคับให้ต้องวางมือและส่งต่อธุรกิจให้ลูกทั้งๆที่ไม่มั่นใจ จึงควบคุมอ้อมๆด้วยวิธีการเก่าๆ ทำให้ลูกๆขัดขืนและไม่ทำตาม ตรงนี้แหละทำให้เกิดรอยร้าวในครอบครัว จนบางครอบครั้วมีความรุนแรงกันถึงขนาดทำร้ายกัน โกงกุน ฟ้องร้องกัน เป็นที่น่าเศร้าอย่างมาก รวยแต่ไม่มีความสุขเลย


ความท้าทายเหล่านี้ จะเกิดขึ้นกับทุกธุรกิจครอบครัวที่กำลังต้องส่งต่อจากรุ่นพ่อแม่ไปให้รุ่นลูกๆ แต่ยังมีครอบครัวที่ผ่านหมอกควันที่อึดอัดนี้ไปได้ คือครอบครัวที่ตกลงกันได้ ว่าสมาชิกครอบครัวทุกคนต้องร่วมมือกันทำให้ฐานะครอบครัวให้มั่งคั่ง และในขณะเดียวกันกิจการก็ยั่งยืนไปด้วยในเวลาเดียวกันด้วย นั่นคือการทำ “ธรรมนูญครอบครัว” นั่นเอง


ธรรมนูญครอบครัว พูดในภาษาที่เข้าใจง่ายๆคือ “กฎของบ้าน” ที่สมาชิกครอบครัวทุกคน ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ทำอะไร อยู่ที่ไหน หากเป็นสายเลือดหรือมีความเกี่ยวของในทางใดที่ครอบครัวนับว่าเป็นเหมือนคนในครอบครัว กฎของบ้านจะเป็นหลักในการปกครองดูแล แบ่งสิทธิ์ประโยชน์ หน้าที่และความรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละคนจะต้องปฏิบัติตาม โดยหลักๆจะแบ่งกฎออกได้สามด้าน คือ

1. ด้านการปกครองดูแลสมาชิกครอบครัว ซึ่งมีสภารอบครัวที่ผู้อาวุโสของบ้านจะเป็นกรรมการ ดูแลไปถึงการตัดสินข้อขัดแย้งกันระหว่างสมาชิกครอบครัว

2. ด้านการสืบทอดกิจการ คือการกำหนดคุณสมบัติของสมาชิกครอบครัวที่จะมอบหมายให้เป็นผู้บริหารระดับสูงในธุรกิจที่ครอบครัวทำอยู่ รวมเป็นถึงการฝึกฝน ปลูกฝังสมาชิกครอบครัวเพื่อให้เกิดความพร้อมในการเข้าทำงานในธุรกิจตรอบครัวในอนาคต

3. การดูแลเรื่องความเป็นเจ้าของ การตกลงการถือหุ้น การซื้อขายหุ้นระหว่างสมาชิกครอบครัวกันเอง

ซึ่งในสามด้านนี้สามารถลงรายละเอียดในแต่ละด้านไปได้ถึง 12 เรื่องย่อย


การได้มาซึ่งธรรมนูญครอบครัว หรือ กฎของบ้านของแต่ละครอบครัว จะต้องผ่านกระบวนการที่ละเอียดอ่อน และใช้เวลาสั้นยาว ขึ้นอยู่กับขนาดของครอบครัว และความซับซ้อนของธุรกิจในมุมของจำนวนและขนาด รวมไปถึงระดับ ความรักความเข้าใจที่สมาชิกครอบครัวมีต่อกัน และการทำธรรมนูญครอบครัวขึ้นมาจะต้องทำขึ้นโดยบริษัทมืออาชีพที่ให้บริการด้านนี้เท่านั้น เพราะบริษัทเหล่านี้มีบทเรียน มีกรณีศึกษามากกว่า มีความเป็นกลางและสามารถหาจุดสมดุลย์ในการเจรจากันจนถึงข้อสรุปได้ง่ายกว่าการทำกันเองในครอบครัว สิ่งที่ยากและเป็นอุปสรรคในการทำธรรมนูญครอบครัวคือ รุ่นพ่อแม่ไม่เห็นด้วยเพราะกลัวการเปลี่ยนแปลงในการที่ตนต้องทำตาม และเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าเป็นการทำพินัยกรรมมอบสมบัติของตนให้รุ่นต่อไป ทำให้ลังเลและรอเวลาไปเรื่อยๆ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *